fbpx

ตรีผลา สามสหายราชาแห่งการปรับสมดุลร่างกาย

เชื่อว่าหนุ่มๆ หลายท่านคงเคยได้ยินชื่อตรีผลากันมาบ้างก่อนหน้านี้ เราต่างรู้กันดีว่า ตรีผลา นั้นเป็นชื่อของสมุนไพรที่ว่ากันว่ามีสรรพคุณดีเหลือเกิน ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บได้ แต่รู้หรือไม่ว่าตรีผลามีหน้าตาอย่างไร แท้จริงแล้วตรีผลาทำมาจากอะไรกันแน่ และสรรพคุณที่ว่ามากมายของตรีผลานั้นมีอะไรกันบ้าง

วันนี้ Dr.MDX จะพาทุกคนไปทำความรู้จัก ตรีผลา ให้มากขึ้นกันครับ

ตรีผลาคืออะไร?

ตรีผลา นั้นอ่านออกเสียงว่า ตรี-ผะ-ลา มาจากคำว่า ตรี ซึ่งมีความหมายว่า สาม และ ผลา แปลว่า ผลไม้ แปลตามตัวก็คือ ผลไม้สามชนิด ซึ่งก็คือ สมอพิเภก สมอไทย และมะขามป้อม ผลไม้สามสหายที่มีสรรพคุณนานับประการ ซึ่งเมื่อนำมารวมกันเป็น ตรีผลา แล้ว ทำให้มีสรรพคุณช่วยปรับสมดุลของร่างกาย ขับพิษออกจากร่างกาย เป็นต้น

ลูกสมอไทย

สมอไทย พบได้ทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ เป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงประมาณ 20 เมตร ผลของสมอไทยมีลักษณะป้อมๆ คล้ายทรงไข่ ส่วนของเนื้อค่อนข้างหนา รสฝาดเปรี้ยว ผลที่แก่ได้ที่แล้วจะมีสีเขียวอมเหลือง แล้วก็เปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อผลนั้นแห้ง นิยมนำมาทำยา

สรรพคุณของสมอไทย คือ บำรุงระบบย่อยอาหาร ปรับปรุงการทำงานของลำไส้และการดูดซึมสารอาหาร บำรุงตับ กระตุ้นการขับน้ำดีให้มีประสิทธิภาพ

ลูกสมอพิเภก

สมอพิเภกเป็นไม้ผลัดใบคล้ายกับสมอไทย จุดสังเกตคือบริเวณโคนต้นมักมีรากค้ำยันที่เราเรียกว่า “พูพอน” ซึ่งมีขนาดใหญ่ เปลือกหนาสีดำแกมขาว ผลมีลักษณะกลมและอยู่รวมกันเป็นพวงโต เปลือกผลของสมอพิเภกจะต่างจากสมอไทยเล็กน้อย คือมีความแข็งและมีขนที่ละเอียด สามารถทานได้ทั้งผลดิบและผลสุก

สรรพคุณของสมอพิเภก คือ บำรุงและช่วยลดการเกิดอาการผิดปกติต่างๆ ของกผะ (ธาตุดินและธาตุน้ำ) ในร่างกาย เช่น ส่งเสริมการทำงานและลดความเสี่ยงในการก่อโรคของทางเดินปัสสาวะ ช่วยขับนิ่ว  และยังช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบทางเดินหายใจ

มะขามป้อม

มะขามป้อมเป็นผลไม้ที่มีค่าวิตามินซีสูงมาก เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่พบได้มากในเขตป่าเบญจพรรณ ลักษณะต้นโดยรวมคล้ายต้นมะขามที่ดูโปร่ง ส่วนผลเป็นทรงกลมสีเขียวอ่อน และเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง ขนาดของผลอยู่ที่ประมาณเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เซนติเมตร ทานได้ตั้งแต่ผลเริ่มโตเต็มที่ รสชาติออกเปรี้ยวฝาด และมีความรู้สึกหวานตามมา

สรรพคุณคือช่วยแก้ไอ ขับเสมหะ ทำให้สดชื่นและแก้อาการผิวหนังอักเสบ มีงานวิจัยว่าช่วยป้องกันโรคมะเร็งและแก้พิษจากสารตะกั่วได้

สรรพคุณของตรีผลา

เมื่อนำสามสหายแห่งสมุนไพรนี้มารวมกัน จึงได้สมุนไพรที่มีคุณสมบัติรอบด้าน โดยแบ่งสรรพคุณของตรีผลาได้ดังนี้

เป็นยาอายุวัฒนะ

ตรีผลา ขึ้นชื่อว่าเป็นสมุนไพรแห่งการปรับสมดุลของร่างกาย มีสรรพคุณดูแลสุขภาพองค์รวมของร่างกาย ช่วยปรับระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายที่อาจจะทำงานผิดปกติไปให้เข้าที่เข้าทาง เรียกว่าตรีผลามีส่วนช่วยในการลดอัตราความผิดปกติของร่างกายที่จะเกิดขึ้นนั่นเอง ดังนั้นยาอายุวัฒนะชนิดนี้จึงทำให้ชีวิตยืนยาว กระตุ้นระบบการทำงานของร่างกาย กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

ล้างพิษในระบบร่างกาย แพทย์อายุรเวชน์มักใช้ตรีผลาในการปรับปรุงระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ซึ่งสองระบบนี้มีการสะสมของสารพิษค่อนข้างมาก ส่วนผสมของตรีผลา จะเข้ามากระตุ้นกระเพาะอาหารให้ทำงานได้ดีขึ้น กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ซึ่งจะทำให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย กลับมาทำงานได้เต็มที่อีกครั้งหนึ่ง

เมื่อร่างกายได้รับการล้างพิษออกไปจะทำให้ผิวพรรณสดใสและแลดูสุขภาพดีขึ้น ลดอาการสิวและโรคผิวหนังซึ่งเกิดจากพิษในร่างกายได้อีกด้วย

บรรเทาโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

ส่วนประกอบตัวหนึ่งในตรีผลามีคุณสมบัติปรับสมดุลของระบบทางเดินหายใจ ช่วยลดอาการติดขัดและระคายเคืองต่างๆ เช่น อาการไอ หายใจไม่สะดวก เจ็บคอ เป็นต้น หากรับประทานในช่วงที่มีอาการเจ็บป่วยก็จะทุเลาลงได้ หลายคนก็หายเป็นปกติได้เลย แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะไม่ว่าอย่างไรตรีผลานั้นก็ไม่สามารถรักษาต้นเหตุของโรคระบบทางเดินหายใจที่ร้ายแรงได้ จึงเหมาะสำหรับใช้เป็นตัวช่วยอีกทางหนึ่งเท่านั้น

ลดน้ำหนัก

ตรีผลามีสรรพคุณในการขับไขมันออกจากร่างกายได้ดี ในส่วนของไขมันที่อยู่ในระบบย่อยอาหาร เมื่อเรารับประทานอาหารที่มีไขมันมาก สารออกฤทธิ์ในตรีผลาจะเร่งขับไขมันเหล่านั้นออกเพื่อไม่ให้เกิดการสะสมเพิ่มเติม แต่ก็ไม่ได้เผาผลาญไขมันที่สะสมอยู่ ดังนั้นคุณควรออกกำลังกายเพื่อลดไขมันที่สะสมอยู่ในร่างกายออกไปด้วยเช่นกัน

ต้านอนุมูลอิสระ

ตรีผลา มีสารออกฤทธิ์ที่ทำหน้าที่ต่อต้านอนุมูลอิสระที่สูงมาก จนได้รับการยอมรับทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มีงานวิจัยรองรับว่าสารต้านอนุมูลอิสระในตรีผลานั้นช่วยบำรุงสุขภาพ ลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคตับ และความเสี่ยงที่จะเกิดเซลล์มะเร็งในร่างกายได้

โทษของตรีผลา

ถึงแม้ว่าตรีผลา จะมีสรรพคุณรอบด้าน แต่การใช้ในปริมาณที่ไม่เหมาะสม หรือการรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานานๆ และไม่คำนึงถึงข้อควรระวังของการใช้ อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน

ข้อควรระวังในการรับประทานตรีผลา มีดังนี้

– ระวังเรื่องความสะอาดของสมุนไพรที่นำมาทำ ตรีผลา หากสมุนไพร มีการเจือปนเชื้อรา หรือ สิ่งสกปรกที่เป็นพิษต่อร่างกาย จะเกิดโทษต่อร่างกายโดยตรง

– สำหรับสตรีที่อยู่ในช่วงมีประจำเดือน ไม่ควรรับประทานตรีผลา เนื่องจากจะทำให้เลือดออกมากขึ้น

– สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ ไม่ควรรับประทานตรีผลา

เป็นอย่างไรกันบ้างหละครับกับสรรพคุณนานับประการของ ตรีผลา นอกจากการทานตรีผลาแบบทั่วไปแล้ว ปัจจุบันมีการนำตรีผลามาเป็นส่วนผสมของอาหารเสริม เพื่อให้สะดวก และรับประทานง่ายขึ้น ซึ่งก็เป็นผลดีกับคนรักสุขภาพอย่างเราๆ ที่จะมีทางเลือกง่ายสำหรับการดูแลสุขภาพของเราให้ดียิ่งขึ้น

ที่มา winnews.tv, medthai.com, beezab.com