fbpx

“ออฟฟิศซินโดม” โรคยอดฮิต..ของมนุษย์ออฟฟิศ

ผมเชื่อว่าคนที่อยู่ในวัยทำงาน โดยเฉพาะคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี หรือคนที่ต้องทำงานติดอยู่กับโต๊ะทำงานเป็นระยะเวลานานๆ คงต้องพบเจอปัญหาเดียวกันกับผมแน่ๆ นั่นก็คือ “โรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)” ซึ่งเป็นกลุ่มอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อที่ไม่เหมาะสมเป็นระยะเวลานานๆ ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บต่อข้อต่อ เส้นเอ็น รวมถึงเส้นประสาท ส่งผลให้เกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเรื้อรัง และอาจจะส่งผลให้ร่างกายส่วนอื่นๆเกิดความผิดปกติร่วมด้วย

เนื่องด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งหนุ่มสาวที่ต่างต้องออกนอกบ้านไปทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศ ที่วันๆ ต้องนั่งอยู่กับโต๊ะทำงาน และต้องทำงานผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานานๆ หรือแม้แต่ในช่วงเวลาพักกลางวัน บางคนยังต้องเอาอาหารมากินบนโต๊ะทำงาน พูดง่ายๆ ได้ว่าผูกติดอยู่กับโต๊ะทำงานทั้งวันจนเลิกงาน ทำให้ร่างกายไม่ได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวเลยตลอดทั้งวัน พอนานวันเข้าก็เกิดอาการปวดเมื่อยล้าตามตัว คอ บ่า ไหล่ และข้อมือ รวมทั้งมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ตาพร่ามัว ปวดศีรษะเรื้อรัง ไมเกรน หรือที่หนักมากๆ ก็อาจจะมีอาการชาตามบริเวณฝ่ามือ นิ้วล็อค กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง หรือจนกระทั่งเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ทางการแพทย์จึงได้มีการนิยามโรคนี้ไว้ว่า โรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) นั่นเอง ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา หรือป้องกันไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็อาจกลายเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพได้ในภายหลัง

สาเหตุของออฟฟิศซินโดรม

  • จากการนั่งทำงานในอิริยาบถเดิมนานๆ ต่อเนื่อง และไม่มีการยืดหรือขยับปรับเปลี่ยนท่าทาง เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
  • เกิดจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ การเพ่งและใช้สายตามากๆ บวกกับรังสีจากจอภาพ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ และปวดตาได้
  • สภาพแวดล้อมในการทำงานไม่เหมาะสม เช่น ออฟฟิศแออัด อากาศไม่ถ่ายเท โต๊ะเก้าอี้ไม่เหมาะกับสรีระ
  • ท่าทางในการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งหลังค่อม ท่าก้มหรือเงยคอมากเกินไป
  • ภาวะเครียดจากงาน งานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายเกิดความตึงเครียด

อาการที่พบได้บ่อยของโรคออฟฟิศซินโดรม

  • ปวดตึงบริเวณ คอ บ่า ไหล่ จากการนั่งท่าเดิมนานๆ
  • มือชา เอ็นอักเสบ นิ้วล็อก ที่พัฒนามาจากอาการปวดเรื้อรัง จนเกิดการอักเสบ เส้นประสาทตึงตัว
  • อาการปวดศีรษะไมเกรน ปวดร้าวถึงตา หรือปวดกระบอกตา เนื่องจากการใช้สายตามาก มีความเครียดสะสม
  • อาการเหน็บชาและแขนขาอ่อนแรง เกิดจากการนั่งนานเกินไป จนการไหลเวียนเลือดผิดปกติ
  • นอนไม่หลับ หรือนอนหลับไม่สนิท เกิดจากความเครียด หรือจากอาการปวดมารบกวนเวลานอนเป็นระยะๆ

หากมีอาการแล้วไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้อาการเล็กๆน้อยๆแปรเปลี่ยนเป็นอันตรายและความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆได้ ดังนี้

  • ความเสี่ยงต่อการเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังคด และแขนขาอ่อนแรง ถ้ารุนแรงมากอาจทำให้เดินไม่ได้ ต้องทำกายภาพบำบัด หรือผ่าตัดเลยทีเดียว
  • ความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า อันมาจากความเครียดสะสม ความกดดัน และบรรยากาศไม่ดีในที่ทำงาน
  • ความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง จากการทานอาหารจุบจิบในเวลาทำงาน และไม่มีเวลาออกกำลังกาย

การรักษาออฟฟิศซินโดรม

  • การรักษาด้วยยา
  • การรักษาด้วยวิธีทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู และการทำกายภาพบำบัดเพื่อยืดกล้ามเนื้อและปรับอิริยาบถท่าทางให้ถูกต้อง
  • การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มสมรรถภาพร่างกาย
  • การรักษาด้วยศาสตร์ทางเลือกอื่น เช่น การฝังเข็ม การนวดแผนไทย

การหลีกเลี่ยงภาวะออฟฟิศซินโดรม

  • ควรปรับพฤติกรรมลดความเครียดจากการทำงานที่หนักเกินพอดี เริ่มจากใช้เวลาในการทำงานกับเวลาในการพักผ่อนให้มีความสมดุล สำคัญที่สุดควรมีการพักผ่อนในระหว่างการทำงานบ้าง เช่น กะพริบตาบ่อยๆ ยืดเหยียดขยับกล้ามเนื้อมือและแขนในทุกๆ 1 ชั่วโมง เปลี่ยนท่านั่งในการทำงานทุก 20 นาที พักสายตาจากคอมพิวเตอร์บ้าง เป็นต้น
  • ในส่วนของสภาพแวดล้อมในออฟฟิศ ควรปรับเปลี่ยนเพื่อให้บรรยากาศดูโล่ง โปร่งสบาย ไม่อึดอัด เช่น ควรเปิดหน้าต่างออฟฟิศให้อากาศระบาย ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ หรือโต๊ะทำงานให้มีคุณภาพ ถูกต้องกับสุขลักษณะและเหมาะสมกับสรีระ ก็จะยิ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรมได้มากขึ้น เช่น ตั้งจอคอมพิวเตอร์และคีย์บอร์ดไว้ในแนวตรงกับใบหน้า ขอบบนของจอคอมพิวเตอร์ควรอยู่ระดับสายตาในท่านั่งที่รู้สึกสบาย เป็นต้น

เรียกได้ว่าสิ่งที่ง่ายๆและสะดวกที่สุดนั่นก็คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเราเองเป็นหลัก ทั้งในเรื่องของการให้ความสำคัญกับการพักผ่อน การออกกำลังกาย และหากสามารถปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการทำงานได้ ก็จะยิ่งเป็นผลดีกับคุณภาพชีวิตของตัวเราเอง ทั้งนี้ทั้งนั้นเราไม่สามารถเปลี่ยนสภาพสังคมรอบๆ ตัวที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ที่ทุกๆ วันจะต้องทำแต่งาน ซึ่งไม่อาจหลบหนีจากความเครียดและความวุ่นวายไปได้ แต่เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานที่อาจเป็นผลพวงที่ก่อให้เกิดโรคร้ายต่างๆ ได้ ลองกลับมาให้เวลาตัวเองดูสักนิด หันกลับมาดูแลคุณภาพชีวิตของตัวเราเอง ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป เพราะสุดท้ายแล้ว..ร่างกายเป็นของเราและตัวเราเท่านั้นคือคนที่รู้จักร่างกายของตัวเราเองได้ดีที่สุดครับ  // Dr.MDX

 

ข้อมูลอ้างอิง

  1. บทความเรื่อง “โรคออฟฟิศซินโดรม”
  2. บทความเรื่อง “ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) โรคยอดฮิตของคนทำงานที่ต้องระวัง”