fbpx

“แปะก๊วย” กินก็ดี…ความหมายก็เยี่ยม

เมื่อคืนก่อน Dr.MDX ได้ไปแวะหาของกินอร่อยๆ ย่านเยาวราช แหล่งรวบรวมของกินเด็ดๆ ยามค่ำคืนของคนกรุงเทพฯ ถนนที่มีชื่อเสียงด้านการค้าขายทองคำในตอนกลางวัน และจะเปลี่ยนเป็นแหล่งรวบรวมร้านอาหารข้างทางอร่อยๆ ในตอนกลางคืน ซึ่งผู้ที่ชอบตระเวนหาของกินอร่อยทั้งหลายต้องเคยไปอย่างแน่นนอน มีทั้งอาหารซีฟู้ด ก๋วยจั๊บ ขนมปังปิ้ง หูฉลาม และรังนก ฯลฯ แต่เมนูที่ Dr.MDX ชื่นชอบมากเป็นพิเศษนั่นก็คือ “แปะก๊วยนมสด” เมนูของหวานที่ช่วยดับร้อนแก้กระหายได้เป็นอย่างดี เหมาะกับสภาพอากาศในช่วงหน้าร้อนนี้เป็นอย่างมาก แถมยังมีคุณค่าทางอาหารอีกด้วย วันนี้เรามาลองทำความรู้จักเจ้า “แปะก๊วย” พืชสมุนไพรจีนที่ดีต่อสุขภาพกันดีกว่าครับ

แปะก๊วย (จีน: 银杏;จีน: 白果, ญี่ปุ่น: イチョウ) เป็นพืชสมุนไพรที่มีต้นกำเนิดจากทางตะวันออกของประเทศจีน (แถบภูเขาด้านตะวันตกของนครเซี่ยงไฮ้) ที่มีการแยกต้นเป็นเพศผู้ และเพศเมีย ใบมีลักษณะคล้ายใบพัด แยกออกเป็น 2 กลีบพบว่ามีการนำเข้าไปปลูกในประเทศญี่ปุ่น พร้อมกับการเผยแผ่ศาสนาพุทธนิกายเซน เมื่อประมาณ ช่วงราว ค.ศ. 1300 หรือสมัยคามากุระมีลักษณะพิเศษคือจะผลัดใบไม่พร้อมกันทุกต้น แต่เมื่อผลัดใบ ใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแล้วร่วงหล่นทั้งต้นภายในไม่กี่วัน

สำหรับชื่อตามความหมายแปลว่า “ลูกไม้สีเงิน” ซึ่งดั้งเดิม ในภาษาจีนเรียกว่าต้น “หยาเจียว” ซึ่งแปลว่าตีนเป็ดจากลักษณะใบ (นกเป็ดน้ำเป็นสัญลักษณ์ที่ดี หมายถึง ความรัก ในความเชื่อคนจีนและญี่ปุ่น) หรือ “ไป๋กั่ว” ในสำเนียงจีนกลาง (จีน: 白果) ซึ่งแปลว่า “ลูกขาว” ต่อมามีการเรียกชื่อผลของมันว่าลูกไม้สีเงิน หรือ ลูกไม้สีขาว เนื่องจากผลจะมีสีเงินและสีขาว ส่วนภาษาญี่ปุ่นจะเรียกว่า อิโจว มีรากมาจากคำว่า ตีนเป็ด หรือ คินนัน ซึ่งมีรากความหมายคล้ายกับในภาษาจีน คือ ลูกไม้สีเงิน สำหรับในภาษาอังกฤษก็นิยมเรียกว่า กิงโกะ หรือต้นเมเดนแฮร์ หรือต้นขนนิ่ม (Maidenhair Tree) ซึ่งสันนิษฐานว่ามาจากรูปทรงของใบที่เหมือนกันใบของเฟิร์นที่มีขนนิ่มชื่อเดียวกัน หรือ เรียกว่า ต้นสี่สิบมงกุฎทอง (หมายถึงมีราคาแพง) ของชาวฝรั่งเศส ส่วนชื่ออื่น ๆ ที่มีผู้เรียกได้แก่ ต้นไม้แห่งความหวัง แพนด้าแห่งอาณาจักรพืช ต้นไม้แห่งอิสรภาพ

สำหรับสารที่สกัดได้จากใบแปะก๊วยมีหลายชนิดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Free Radical) ในบริเวณตา ป้องกันการเกิดโรคเบาหวานขึ้นตาได้ เพิ่มการไหลเวียนของโลหิตไปสู่สมอง ปลายมือปลายเท้า ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง เพราะเมื่อสมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ย่อมเสื่อมสมรรถภาพและฝ่อไปในที่สุด ส่งผลต่อการทำงานและประสิทธิภาพของสมอง ทำให้เกิดการหลงลืมในผู้สูงอายุ หรือโรคความจำเสื่อม ที่เรียกว่า อัลไซเมอร์ (Alzheimer Disease)

ในปัจจุบันหลายๆ ประเทศได้ให้การยอมรับถึงสรรพคุณของใบแปะก๊วยในการรักษาโรคสมองเสื่อม โดยการนำสารสกัดจากใบแปะก๊วยมารวมกับสารอื่นๆ ช่วยให้การดูดซับที่ผนังลำไส้เล็กดีขึ้น ทำให้ร่างกายสามารถนำเอาสารสกัดจากใบแปะก๊วยนี้มาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการนำสารสกัดดังกล่าวมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อบำรุงสมอง และช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ใช้รักษาโรคความจำเสื่อม โรคซึมเศร้า อาการหลงๆ ลืมๆ อันเนื่องมาจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอในผู้ป่วยสูงอายุ ผลแปะก๊วยที่ใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารจีนหลากหลายชนิด มีสรรพคุณช่วยบำรุงสมอง ช่วยให้เลือดลมหมุนเวียนได้สะดวก แต่ทราบหรือไม่ว่าแหล่งใหญ่ของสารที่ทำหน้าที่ช่วยเสริมสุขภาพดังกล่าวกลับพบมากในส่วนของใบมากกว่าผลเสียอีก

ใบแปะก๊วยยังเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยโตเกียวประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวแทนของความคงทน ไม่เปลี่ยนแปลง เหมือนต้นแปะก๊วยที่คงทนต่อสภาพแวดล้อม คงความเป็นต้นแปะก๊วยมาแต่ยุคโบราณกาลจนปัจจุบัน และมีความหมายในการปกป้องคุ้มครองภัย จากการที่วัดอันศักด์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวญี่ปุ่น มักจะถูกปกป้องจากอัคคีภัยหรือแผ่นดินไหวโดยต้นแปะก๊วย ส่วนในประเทศจีนแปะก๊วยยังใช้แทนตัวขงจื๊อ ผู้เป็นปราชญ์ใต้ต้นแปะก๊วย

ซึ่งนอกจากแปะก๊วยจะเป็นพืชสมุนไพรจีนที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้ง 2 ส่วน คือ ส่วนผลและส่วนใบ เพราะอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ และช่วยให้สมองทำงานได้อย่างปลอดโปรงแล้ว แปะก๊วย ยังถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ในเชิงบวก ซึ่งมีความหมายที่ดีและเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตอย่างการมีอายุยืนยาวอีกด้วย  แล้วแบบนี้จะไม่ให้ Dr.MDX ชอบกิน “แปะก๊วย” ได้อย่างไรกันครับ

 

ข้อมูลอ้างอิง

  1. บทความเรื่อง “แปะก๊วย”  
  2. บทความเรื่อง “แปะก๊วย สมุนไพรสรรพคุณทรงคุณค่า บำรุงร่างกายได้ยอดเยี่ยม”
  3. บทความเรื่อง “ประโยชน์ของแปะก๊วย ไอเดียการกินการใช้แปะก๊วยเพื่อสุขภาพ ข้อควรระวัง”
  4. บทความเรื่อง “15 สรรพคุณ..ประโยชน์ของแปะก๊วย “สมุนไพรเพิ่มความจำ””

 

เชิญแสดงความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.