fbpx

โนโมโฟเบีย (Nomophobia) โรคสุดฮิตของคนใช้สมาร์ทโฟน

 

โนโมโฟเบีย (Nomophobia) มาจากคำว่า no mobile phone phobia” เป็นศัพท์ที่หน่วยงายวิจัยทางการตลาดขนาดใหญ่ (YouGov) บัญญัติขึ้นเมื่อปี 2010 เพื่อใช้เรียกอาการที่เกิดจากความหวาดกลัว วิตกกังวลเมื่อขาดโทรศัพท์มือถือเพื่อติดต่อสื่อสาร และอาการนี้กำลังถูกเสนอจัดเป็นโรคจิตเวชประเภทหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มวิตกกังวล

งานวิจัยที่เป็นที่มาของโรคนี้ได้ทำการศึกษาผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ 2,163 คนในสหราชอาณาจักรและพบว่า 53% ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในสหราชอาณาจักรจะเกิดอาการวิตกกังวลเมื่อพบว่าโทรศัพท์หาย แบตเตอรี่หมด หรืออยู่ในสถานที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ อีกทั้งยังพบว่า 58% ของผู้ชาย และ 47% ของผู้หญิงที่ใช้โทรศัพท์มือถือมีอาการของ Nomophobia และในจำนวนนี้มีถึง 9% ของกลุ่มที่ศึกษา ระบุว่ารู้สึกเครียดมากถ้าโทรศัพท์ของตนเองใช้การไม่ได้ และเมื่อให้ผู้ที่ถูกสัมภาษณ์ระบุถึงระดับของความเครียดจากการขาดโทรศัพท์มือถือนั้น ความเครียดที่เกิดขึ้นเทียบเท่ากับความเครียดที่เกิดขึ้นก่อนวันแต่งงานหรือความเครียดระดับเดียวกับการไปพบทันตแพทย์เลยทีเดียว

อีกการศึกษาหนึ่งที่ทำในนักศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพเพศชาย 547 คน พบว่า 23% มีพฤติกรรมอยู่ในเกณฑ์ที่จะถูกวินิจฉัยได้ว่าเป็น Nomophobia และมีอีก 64% ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการนี้  และที่น่าสนใจก็คือ 77% ของเด็กในกลุ่มที่ถูกทำการวิจัยเช็กโทรศัพท์มือถือของตนเองบ่อยมากโดยเฉลี่ย 35 ครั้งต่อวันเลยทีเดียว

จากงานวิจัยที่ทำพบว่า โนโมโฟเบียพบ มากที่สุดในกลุ่มคนในช่วงอายุ 18-24 ปี โดยคิดเป็นร้อยละ 77 รองลงมา คือ กลุ่มคนในช่วงอายุ 25-34 ปี และกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 55 ปีตามลำดับ

 

โนโมโฟเบีย จุดเริ่มต้นปัญหาสุขภาพแบบบุฟเฟ่ต์

โรคติดมือถือเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมของเราเอง ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต ความเครียด ความกังวลต่างๆ แต่นอกจากปัญหาส่วนนี้แล้ว โรคติดมือถือยังเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพทางร่างกายอีกหลากหลายปัญหา เรียกได้ว่าเรียงหน้ากันมาแบบบุฟเฟ่ต์กันเลยทีเดียว

  • นิ้วล็อกเกิดจากการใช้นิ้วมือกด จิ้ม เขย่า สไลด์ หน้าจอติดต่อกันนานเกินไป ทำให้มีอาการปวดข้อมือ ข้อมืออักเสบ เส้นเอ็นยึด เกิดพังพืด ถ้ารู้สึกว่ากำนิ้วมือแล้วเหยียดนิ้วไม่ได้นั่นคือสัญญาณเตือนว่าควรรีบไปพบแพทย์
  • อาการทางสายตาเกิดอาการสายตาล้า ตาพร่า ตาแห้ง จากการเพ่งสายตาจ้องหน้าจอเล็กๆ ที่มีแสงจ้านานเกินไป หรือเกิดอันตรายจากแสงสีฟ้าจากหน้าจอโทรศัพท์ (Blue Light) ที่ถ้าหากสัมผัสแสงนี้ไปนานๆ อาจส่งผลให้วุ้นในตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม หรือตาบอดจาก Age macular degeneration (AMD) ได้
  • ปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่เพราะในการใช้งานโทรศัพท์ คนส่วนใหญ่จะก้มหน้า ค้อมตัวลง ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่หดตัวผิดปกติ เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หากเล่นนานๆ อาจมีอาการปวดศีรษะตามมา
  • หมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควรท่าทางการใช้โทรศัพท์ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ โดยเฉพาะการก้มหน้า อาจทำให้กล้ามเนื้อไม่สามารถพยุงกระดูกได้ดี  อีกทั้งการไม่ออกกำลังกายก็เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้กระดูกบางหรือทรุด สองสาเหตุนี้ล้วนเป็นปัจจัยเสริมสำคัญที่ทำให้เกิดอาการโรคกระดูกต้นคอเสื่อม (C-Spine spondylosis)
  • โรคอ้วนแม้การใช้โทรศัพท์จะไม่ได้ทำให้เกิดโรคอ้วนโดยตรง แต่การนั่งเล่นโทรศัพท์ทั้งวันโดยแทบไม่ลุกเดินไปไหน ก็จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอ้วนและโรคเรื่อรังอื่นๆได้

 

โนโมโฟเบีย กระทบต่อการทำงานและปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

นอกจากปัญหาด้านสุขภาพแล้ว โรคติดมือถือยังสามารถสร้างปัญหาและส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน การเรียน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เนื่องจากปัญหาเรื่องการแบ่งเวลานั่นเอง จากพฤติกรรมส่วนใหญ่ของผู้ที่เป็นโรคติดมือถือ คือ จะต้องหยิบมือถือขึ้นมาเช็กบ่อยๆ แม้ไม่มีเรื่องด่วนและไม่จำเป็นต้องใช้ รวมถึงหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาใช้ในขณะทำกิจกรรมสำคัญอื่นๆ อย่างตอนทำงาน ตอนประชุม ทำให้เสียสมาธิ และไม่จดจ่ออยู่กับเนื้อหางานตรงหน้าเท่าที่ควร รวมถึงส่งผลเสียเรื่องของบุคลิกภาพ ส่วนแรกเนื่องจากก้มหน้ามองจอโทรศัพท์นานๆ ทำให้กระดูกสันหลังและต้นคอเปลี่ยนรูปจนโค้งงอเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และการใช้โทรศัพท์อยู่ตลอดเวลาทำให้ลดทอนภาพลักษณ์ภายนอกลง โรคติดมือถือยังทำให้ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง เพราะมัวแต่ใช้งานโทรศัพท์ ระบายความรู้สึกต่างๆ ลงโซเชียลแทนการพูดคุยกัน สนทนาและสนใจคนรอบข้างน้อยลง ซึ่งจากการศึกษา พบว่า การเป็นโรคติดมือถือนั้นยังทำให้ระยะเวลาสบตากันขณะสนทนาสั้นลง แทนที่จะพูดคุยและสบตาไปพร้อมกัน เพราะการสบตาเป็นอีกช่องทางในการสื่อความหมายของสิ่งที่พูดได้ดีขึ้น

หากใครรู้สึกว่าตัวเองมีอาการเหล่านี้ หรือมีเพื่อน มีญาติที่มีอาการเหล่านี้ แล้วมันรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเราอย่างมาก เกิดความกระวนกระวาย เสียการเสียงาน ไม่สามารถทำอะไรต่างๆ ได้อย่างปกติ Dr.MDX ขอแนะนำให้มาพบจิตแพทย์เพื่อทำการรักษา พูดคุยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งทางการแพทย์อาจจะใช้วิธีการรักษาแบบ Cognitive Behavior Therapy (CBT) ที่นิยมใช้รักษาคนมีอาการวิตกกังวล และอาการกลัวในระดับต่างๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนแปลงความเชื่อเฉพาะตัว ทำให้เรารู้สึกเป็นอิสระมากขึ้นเมื่อไม่มีโทรศัพท์มือถือ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ลุกลามจนถึงขั้นเป็นโรคทางจิตเวช เช่น โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้าได้ครับ

 

ข้อมูลอ้างอิง

  1. บทความเรื่อง “โรคติดมือถือ กับประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงและส่งผลต่อสุขภาพ”
  2. บทความเรื่อง “เช็คดู! คุณมีอาการเข้าข่าย “กลัวการขาดมือถืออย่างมาก” หรือไม่?”
  3. บทความเรื่อง “รู้จักโรค “โนโมโฟเบีย (nomophobia)” โรคสุดฮิตของคนใช้สมาร์ทโฟน”

เชิญแสดงความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.