5 ข้อง่ายๆ ช่วยผู้ชายอายุ 35 ขึ้น ห่างไกลโรคหลอดเลือดหัวใจ
คุณรู้หรือไม่ว่า หนึ่งในโรคที่อาจไม่แสดงอาการชัดเจนในกลุ่มผู้ชายอายุ 35 ปีขึ้นไป แต่สามารถคร่าชีวิตได้แบบฉับพลันนั่นก็คือ โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease) ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทยมาหลายปี
รายงานของกรมควบคุมโรคปีล่าสุด ระบุว่าคนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า 60,000 รายต่อปี และผู้ชายในวัยทำงานคือกลุ่มเสี่ยงหลัก เพราะใช้ชีวิตแบบเร่งรีบ เครียดสูง และดูแลสุขภาพกันน้อยลงเรื่อย ๆ
สัญญาณเตือนสุขภาพหัวใจที่ไม่ควรมองข้าม
อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจมักไม่ชัดเจนในช่วงแรก แต่หากรู้จักสังเกตตัวเอง จะช่วยลดความเสี่ยงได้มาก โดยมีอาการที่เด่นชัด ได้แก่
- แน่นหน้าอกคล้ายถูกกดทับ หรือเจ็บลึกบริเวณกลางอก
- เหนื่อยง่าย หายใจไม่เต็มปอด ขึ้นบันไดนิดเดียวก็หอบแล้ว
- เหงื่อออกมากโดยไม่ออกแรง ใจสั่น คลื่นไส้ หน้ามืด
อาการเหล่านี้อาจเกิดเฉพาะตอนนอนหรือหลังทานอาหารหนัก ทำให้บางคนเข้าใจผิดว่าเป็นกรดไหลย้อน ทั้งที่แท้จริงแล้วอาจเป็นอาการของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Myocardial Infarction) ซึ่งต้องรักษาทันที!
ทำไมผู้ชายวัย 35+ ถึงเสี่ยง?
นอกจากเรื่องความเสี่ยงจากพันธุกรรม ไลฟ์สไตล์ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเครียดสะสม ทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง ส่งผลต่อความดันและไขมัน การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ที่ไปทำลายผนังหลอดเลือดโดยตรง รวมถึงการไม่ออกกำลังกาย นั่งติดโต๊ะทั้งวัน ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดช้าลง และการกินอาหารไม่ดีต่อหลอดเลือด เช่น ของทอด หวานจัด เค็มจัด ไขมันทรานส์ ฯลฯ
งานวิจัยจาก Journal of the American College of Cardiology (2022) พบว่าผู้ชายอายุ 35-50 ปีที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเร็วกว่าคนปกติถึง 3 เท่า! ซึ่งเราสามารถรู้เท่าทันโรคได้โดยการตรวจสุขภาพประจำปี (โดยเฉพาะ Lipid Profile และคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ EKG) หากสมาชิกครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ ให้ตรวจเฉพาะทางเพิ่มเติม เช่น CT Angiogram รวมถึงควรวัดความดันและระดับน้ำตาลอย่างสม่ำเสมอ การตรวจเชิงรุกสามารถช่วยให้เรารู้ความเสี่ยงและวางแผนป้องกันได้อย่างตรงจุด
วิธีหลีกเลี่ยงโรคร้ายทำอย่างไรดี?
งานวิจัยจาก Harvard Medical School ระบุว่า หากปฏิบัติตามพฤติกรรมสุขภาพทั้ง 5 ข้อต่อไปนี้ จะสามารถลดโอกาสเสี่ยงโรคหัวใจได้ถึง 80%
- บริโภคอาหารที่ดีต่อหัวใจ: เลือกกินปลา (โดยเฉพาะปลาทะเล) ธัญพืชไม่ขัดสี ผัก ผลไม้ไม่หวานจัด ลดอาหารทอด ไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ และอาหารเค็มจัด และดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวาน เลี่ยงแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ: เดินเร็ว วิ่ง ปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำ อย่างน้อย 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์
- ลดเครียด: ฝึกสมาธิ นั่งเงียบ ๆ ฟังเพลง หรือใช้เวลากับครอบครัว
- พักผ่อนให้เพัยงพอ: นอนวันละ 6–8 ชั่วโมง เป็นเวลาสม่ำเสมอ
- เลิกบุหรี่โดยเด็ดขาด: เพราะบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจได้ถึง 2–4 เท่า
“เพราะสุขภาพดีไม่มีขาย” และ “หัวใจแข็งแรง” คือการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด
ไม่ว่าคุณจะทำงานหนักแค่ไหน อย่าลืมว่า หัวใจคุณคือศูนย์กลางของทุกอย่าง ซึ่งคุณสามารถเริ่มดูแลตัวได้ง่าย ๆ ได้ตั้งแต่วันนี้ ตั้งแต่การสังเกตตัวเอง ปรับพฤติกรรมการกิน การใช้ชีวิต และตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
…เพราะถ้าคุณยังมีคนที่รักและรอคุณอยู่ จงดูแลหัวใจให้แข็งแรงไว้ก่อนดีที่สุดครับ
ใส่ความเห็น