fbpx

‘หัวใจเต้นผิดจังหวะ’ จากอาหารเสริมที่ลักลอบผสมซิลเดนาฟิล

สนับสนุนบทความโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

จาก http://bit.ly/2sD8BLI


ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ พร้อมอาการแทรกซ้อนอย่าง หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น แน่นหน้าอก เกิดจากพฤติกรรม เช่น สูบบุหรี่ ดื่มชา กาแฟ เครียด ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ ฉะนั้นรีบสังเกตอาการเสี่ยงเพื่อรักษาโดยเร็ว บางคนอาจได้รับผลข้างเคียงจากการ อาหารเสริมที่ลักลอบผสมซิลเดนาฟิล

หลายๆ คนคงเคยมีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลาย ใจสั่น หายใจติดขัด แน่นหน้าอก หรือรุนแรงถึงขั้นเป็นลมหมดสติ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องปกติ หรือมองข้ามไป!! เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของ “โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ” โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มี พฤติกรรมชอบดื่มชา กาแฟ สูบบุหรี่ และเครียด!!

เชื่อว่าหลายคนเสี่ยงแน่นอน เพราะพฤติกรรมที่เอ่ยมานี้น้อยคนนักที่จะไม่ปฏิบัติ ฉะนั้นเรามาทำความรู้จักกับ “โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ” กันดีกว่าว่ามีสาเหตุเกิดจากอะไร เพื่อหาแนวทางป้องกัน แต่…!! ถ้าป้องกันไม่ได้ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการรักษาโรคนี้ได้อย่างไรบ้าง??

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmia) เป็นอาการที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ อาจเต้นเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป ทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหลอดเลือดสมองอุดตันเพิ่มมากขึ้น

อย่างที่บอกว่า “ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ” มีปัจจัยจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มชา กาแฟ ความเครียด ที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หรือแม้แต่ความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจรั่ว ผนังหัวใจหนาผิดปกติ รวมทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ส่วนมากผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเองมีปัญหา ฉะนั้นสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ เช่น วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น หายใจขัด เจ็บแน่นบริเวณหน้าอก เป็นลมหมดสติ หากตรวจวินิจฉัยตรวจพบว่าป่วยการรักษาทั่วไปแพทย์จะใช้ยาควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ การใช้ไฟฟ้ากระตุกเพื่อปรับการเต้นของหัวใจ การใช้สายสวนเพื่อจี้กล้ามเนื้อหัวใจที่นำไฟฟ้าผิดปกติ และการฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้า หัวใจ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการรักษา “ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ” ให้มีประสิทธิภาพนั้นแพทย์ต้องวินิจฉัยให้ได้เสียก่อนว่าเป็นความผิดปกติชนิดใด เพราะมีหลายแบบ ได้แก่ การเต้นแบบสั่นพลิ้ว เต้นผิดจังหวะ เต้นเร็ว หรือเต้นเร็วชนิดลัดวงจร และหาตำแหน่งกำเนิดความผิดปกติเกิดขึ้นว่าเป็น ณ จุดใด หัวใจห้องบนหรือห้องล่าง??

นพ.กุลวี เนตรมณี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจแปซิฟิก ริม ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา และอายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ ศูนย์หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้ความรู้ว่า “การวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดปกติ” ทั่วไปจะใช้ 2-3 วิธีเบื้องต้น คือ จับชีพจรของคนไข้แล้วนับว่าเต้นเร็วเต้นช้าเท่าไหร่ เต้นปกติหรือไม่ปกติ วิธีการนี้จะสามารถรู้ได้ว่าคนไข้มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติหรือหรือไม่ แต่ก็บอกไม่ได้ว่าเป็นการเต้นผิด ปกติแบบชนิดใด จึงได้มีการพัฒนาเครื่องมือ Electrocardiogram (EKG หรือ ECG) มาใช้เพื่อให้ได้ข้อมูลมากกว่าการจับชีพจรอย่างเดียว เช่น สามารถบอกอัตราการเต้นของหัวใจ เต้นเร็วจากหัวใจห้องบนหรือห้องล่าง และรูปแบบการเต้นที่ไม่สม่ำเสมอ ปัจจุบันนี้ก็ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกแทบทุกโรงพยาบาล ทุกคลินิก แต่ก็ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่า อาการผิดปกติของหัวใจเกิดในจุดใด ?

.

ล่าสุดมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ จากการพัฒนาเครื่องมือชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า “CardioInsight” เข้ามาช่วยในการตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งสามารถตรวจจับบริเวณของกล้ามเนื้อหัวใจที่เกิดความผิดปกติได้แม่นยำและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น หากเทียบกับ “เครื่อง EKG” ที่บอกว่ามีความผิดปกติ ณ หัวใจห้องบน ซึ่งเครื่องมือ “CardioInsight” จะชี้เฉพาะได้ละเอียดขึ้นว่าผิดปกติที่จุดใดของหัวใจห้องบนหรือห้องล่าง หรือเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ คือ แทนที่จะบอกว่าผู้ร้ายอยู่จังหวัดไหน ก็สามารถบอกได้เลยว่าอยู่ในซอยไหน

หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ เซลทุกเซลของหัวใจเหมือนแบตเตอรี่ และการทำงานของหัวใจจะมี 2 องค์ประกอบคือ กล้ามเนื้อสำหรับการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย และมีคลื่นไฟฟ้าเพื่อส่งสัญญาณให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานเป็นจังหวะที่เหมาะสม “การเต้นของหัวใจผิดจังหวะ” มักจะพบว่ามีความบกพร่องในแบตเตอรี่ คือ “ต้นกำเนิดไฟฟ้าหัวใจ” หรือเส้นทางของกระแสไฟฟ้าที่กระตุ้นเซลกล้ามเนื้อหัวใจ เหมือนสายไฟที่ส่งไฟฟ้าไปทั่วบ้าน

ถ้าเป็นคนปกติ หัวใจจะเต้นในห้องบนแล้วส่งสัญญาณไปหัวใจทั้ง 4 ห้อง ทั้งซ้ายและขวา ในกรณีแบบนี้สามารถเห็นได้เลยว่าทุกจังหวะของหัวใจที่เต้น มันเริ่มจากหัวใจห้องบนลงมาห้องล่าง แล้วกระจายออกไปอย่างไร ถ้านับจากต้นกำเนิดไฟฟ้าหัวใจจนทั่วห้องข้างบน ส่วนใหญ่จะเสร็จสิ้นกระบวนการทำงานประมาณ 0.2 วินาที จากนั้นสัญญาณไฟฟ้าจะผ่านจุดเชื่อมระหว่างหัวใจข้างบนข้างล่าง ประมาณ 0.18-0.2 วินาที แล้วก็ลงไปหัวใจห้องล่างประมาณ 0.1 วินาที อันนี้คือ หัวใจปกติ แต่ถ้าเป็น หัวใจเต้นผิดปกติ เราก็จะเห็นได้ทันทีว่ามันออกมาจากที่ไหน แล้วแพร่ขยายไปอย่างไร??

เมื่อรู้จุดที่เป็นปัญหาแล้วก็ทำการรักษาด้วย “Radio Frequency Ablation” ซึ่งเป็นเครื่องจี้ด้วยความถี่วิทยุเพื่อสร้างความร้อนลงไปบนจุดที่มีปัญหา อย่างเช่นเวลาสวนหัวใจเพื่อรักษาคนไข้ ก็ให้คนไข้สวม “CardioInsight” ไว้ จากนั้นใช้ข้อมูลทั้ง 2 ส่วนนี้ร่วมกัน จึงรู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหนและรักษาที่จัดนั้นเลย ไม่ต้องไปค้นในทุกๆ แห่ง จึงทำให้วงการแพทย์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่นี้ ช่วยให้กระบวนการรักษามีความแม่นยำขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาค้นหามากเกินไปถือว่าเป็นผลดีกับผู้ป่วย

สุดท้ายถึงแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีการรักษา “ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ” นี้ดีอย่างไร ก็คงไม่มีใครอยากเจ็บป่วยอยู่ดี ดังนั้นการป้องกันจึงดีที่สุดด้วยการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทำร้ายสุขภาพตัวเอง และหันมารับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ …แค่นี้ก็ช่วย “สร้างภูมิคุ้มกัน” ให้ร่างกายแข็งแรงลดเสี่ยงโรคต่างๆ ได้อีกทางหนึ่งแล้ว