fbpx

อาหารเสริม หรือ ยาผสมสารเคมี ทานเกินขนาด ทำตับไตพัง

คนไทยนิยม “ยาชุด” ทำยอดไตพังกระฉูด แพทย์ชี้แต่ละซองมียากลุ่มเอ็นเสดร่วมกัน 2-3 ชนิด จี้ อย.เร่งจัดการ


สนับสนุนบทความโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

จาก 


ศ.นพ.ชัยรัตน์ ฉายากุล อายุรแพทย์โรคไต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และประธานอนุกรรมการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุผล กล่าวว่า คนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังสูงถึง 8 ล้านคน และมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี มีผู้ป่วยรายใหม่ ประมาณ 8,000 รายต่อปี ส่วนใหญ่เกิดจากโรคเบาหวานหรือความดันเลือดสูง หากมีการดูแลตนเองด้วยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกายและใช้ยาอย่างเหมาะสมจะสามารถชะลอการเสื่อมของไตได้ แต่ในจำนวนผู้ป่วย 5-10 % เกิดจากการใช้ยาไม่ถูกต้อง ไม่ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ อาจเพราะเชื่อว่าการกินยามากๆจะไปกระเทือนไต หรือเกิดความเบื่อหน่ายในการกินยา

“ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ป่วยเป็นโรคไตด้วยสาเหตุจากการใช้ยาโดยตรง โดยยาที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคไตจากการใช้ยาอาจแยกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ 1.ยาแก้ปวดแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) 2. ยาฆ่าเชื้อบางชนิด และ3.ยาเสริม ทั้งที่เป็นยาจีนหรือยาไทยที่มีการโฆษณาหรือระบุว่าเป็นยาบำรุงไต ซึ่งปัจจุบันมีขายทั่วไป ประชาชนสามารถหาซื้อมากินเองได้ เชื่อว่าหากสามารถดูแลคนกลุ่มเหล่านี้ได้ ก็จะช่วยให้ตัวเลขผู้ป่วยโรคไตในไทยลดลง”ศ.นพ.ชัยรัตน์กล่าว

ศ.นพ.ชัยรัตน์ กล่าวด้วยว่า วิธีสังเกตว่าตัวเองอาจเกิดปัญหาทางไตจากยาที่ได้รับ ได้แก่ การมีปัสสาวะผิดปกติ ทั้งสี ปริมาณ ความเป็นฟอง หรืออาการแสบขัดอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ถ้ามีปัสสาวะออกน้อย อาจมีอาการบวม เหนื่อยง่าย หอบ อ่อนเพลีย ในรายที่แพ้ยาอาจมีไข้ ผื่นผิวหนัง ตาแดง หรือมีอาการในระบบอื่นๆที่มีปัญหาร่วมด้วย เป็นต้น ถ้าสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรโดยทันที เพราะถ้าปล่อยไว้นานอาจนำไปสู่ภาวะไตวายหรือมีความผิดปกติอื่นๆเพิ่มเติม

ส่วนการดูแลและป้องกันปัญหาโรคไต ยึดหลัก 4 ควรเพื่อถนอมไตคือ ควรกินยารักษาอย่างต่อเนื่อง ควรสอบถามจนเข้าใจถึงยาที่กินอยู่ ควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งว่าเป็นโรคอะไร และควรมีรายชื่อยาที่ใช้อยู่เป็นประจำพกติดตัวไว้เมื่อมาพบแพทย์ ส่วนหลัก 4 ไม่ควรเพื่อป้องกันผลเสียของยาต่อไต คือ ไม่ควรหยุดยาเอง ไม่ควรซื้อยาแก้อักเสบ ยาฆ่าเชื้อ หรือยาบำรุงอาหารเสริมมากินเอง ไม่ควรหลงใหลในคำชวนเชื่อหรือคำโฆษณาในการกินยาที่ไม่รู้จัก และไม่ควรกินยาของผู้อื่น โดยเชื่อว่าจะใช้ได้ผลดีเหมือนกันกับเรา ซึ่งหากใช้ยาได้ถูกต้อง สมเหตุผล ปัญหาเรื่องไตก็จะลดลงมาก

ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ประธานคณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผลกล่าวว่า ยากลุ่มเอ็นเสดเป็นยาแก้ปวดที่ดี มีที่ใช้หลากหลาย เช่นใช้บรรเทาปวดจากโรคเกาต์ ไมเกรน ข้อเข่าเสื่อม ปวดประจำเดือน และการปวดทางทันตกรรม เป็นต้น แต่ยากลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้ไตเสื่อมไตวายจนถึงขั้นต้องทำการฟอกไตและนำไปสู่การสูญเสียชีวิตได้ จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น และต้องใช้ยาให้ถูกขนาด ไม่ใช้ต่อเนื่องนานๆ ต้องมีการตรวจติดตามการทำงานของไต และหลีกเลี่ยงการใช้กับผู้ที่เป็นโรคไตอยู่เดิม

“ปัจจุบันกลับพบว่ามีการใช้ยาเหล่านี้อย่างพร่ำเพรื่อทั้งในสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน ตลอดจนร้านขายยา รวมไปถึงการขายยาอย่างผิดกฎหมายตามร้านชำและรถเร่ โดยเฉพาะการซื้อขายในรูปแบบของยาชุด ซึ่งในยาชุดแต่ละซองจะมียากลุ่มเอ็นเสด2-3 ชนิด อันเป็นการซ้ำเติมให้เกิดพิษต่อไตอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น จึงขอเสนอว่า กระบวนการควบคุมการใช้เอ็นเสดให้เป็นไปอย่างสมเหตุผลควรเป็นมาตรการที่ครอบคลุมการจ่ายยานี้จากทุกแหล่ง ทั้งสถานพยาบาลภาครัฐ เอกชนและควรบังคับใช้กฏหมายต่อการขายยาอย่างผิดกฎหมายเพื่อช่วยปกป้องประชาชนจากอันตรายของยากลุ่มนี้”ผศ.นพ.พิสนธิ์กล่าว

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ซึ่งสนับสนุนโดย สสส. และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า กพย. และเครือข่ายเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นมีการแก้ไขปัญหาดังนี้

1) เร่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยากับปัญหาการเกิดโรคไต ผ่านการให้ความรู้แก่ประชาชนและสังคมที่เป็นเรื่องปลายน้ำ

2) จัดทำข้อมูลเพื่อเตือนภัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอมปน สเตียรอยด์หรือเอ็นเสด โดยอาจทำผ่านระบบ Single Window ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จัดทำขึ้น

3) ในเรื่องต้นน้ำ จำเป็นต้องมีการทบทวนทะเบียนตำรับยา ถอนทะเบียนยาที่ไม่มีประสิทธิผลหรือที่ไม่เหมาะสมเป็นอันตราย หรือจัดประเภทยาใหม่ เช่นยาต้านอักเสบชนิดฉีด ต้องปรับให้เป็นยาควบคุมพิเศษ

4) จัดระบบเฝ้าระวังโรคไต โดยการ scan หรือระบบตรวจคัดกรองหากลุ่มเสี่ยงต่อโรคไตทั้งใน โรงพยาบาลและในชุมชน เพื่อค้นหาสาเหตุ กำหนดวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหา 5) การจัดระบบการควบคุมการกระจายยากลุ่มเสี่ยงทั้งยาชุด ยาตำรับไม่เหมาะสมให้เข้มงวดมากขึ้น ให้สามารถติดตามได้ว่าทำไมยาจึงออกจากโรงงานผลิต ไปอยู่ในยาชุดขายในชุมชนได้อย่างไร 6) ในการส่งเสริมการใช้ยาที่เหมาะสมของบุคลากรการแพทย์ในโรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำเป็นต้องนำฐานข้อมูลการใช้ยาที่มีอยู่เพื่อชี้เป้าปัญหาการใช้ยา ลดปัญหาการจ่ายยาเอ็นเสดซ้ำซ้อน รวมทั้งการเฝ้าระวังปัญหากรณีผู้ป่วยที่เกิดโรคไตจากการใช้ยาเข้ามารักษา